ประวติเพลงอินดี้ (INDY)

ประวติเพลงอินดี้ (INDY)

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประวัติเพลงอินดี้ (INDY)

ประวัติและความเป็นมาของวงการเพลงอินดี้ไทย


ก่อนยุคอินดี้บูมครั้งแรกในปี 2537 ค่ายเพลงไทยสากลโดยรวม เน้นแนวกลางๆ ฟังง่ายๆ เหตุผลหนึ่งคือต้นทุนการผลิตเพลงสมัยนั้นสูงมาก ค่าเช่าห้องบันทึกเสียงและอุปกรณ์ราคาแพง การผลิตเพลงจึงเป็นของค่ายเพลงใหญ่ ซึ่งมีการกำหนดแนวเพลง ให้กับศิลปินนักร้อง 


เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ก้าวหน้า ต้นทุนการผลิตเพลงถูกลง จึงเป็นโอกาสให้กับค่ายเพลงใหม่ๆ ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนเล็ก ที่มีความรักเสียงเพลง แต่ไม่มีเงินทุน สามารถคิด และสร้างสรรค์งานเพลง แตกต่างกับกระแสหลักมากขึ้น กลายเป็นทางเลือกใหม่ ด้วยความเบื่อหน่ายในเพลงกระแสหลักที่สะสมไว้มานาน ความนิยมของผู้ฟังจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ศิลปินนักร้องผู้มีความรู้ความสามารถทางดนตรีใน “แนว” ที่ตนถนัด จึงเริ่มมีสิทธิมีเสียงขึ้นมา พัฒนาไปจนถึงการเป็นเจ้าของค่ายเพลงเล็กๆ 


รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของค่ายเพลงอินดี้ ที่โลดแล่นอยู่กับคลื่นลมเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น เขาเริ่มต้นด้วยการก่อตั้งและเป็นมือเบสวง “Crub” ออกอัลบั้มชุด “View” ในปี 2537 บุกเบิกแนวเพลง brit-pop ของอังกฤษในไทย จนมาเป็นฐานะเจ้าของค่ายต้นสังกัดของวง “สี่เต่าเธอ” ที่โด่งดังในยุคอินดี้บูมครั้งแรก 


ต่อมารุ่งโรจน์ก่อตั้งบริษัท Small Room ในปี 2542 มุ่งงานรับทำเพลงโฆษณา แตกมาเป็นเพลงขายเป็นอัลบั้มตามร้านทั่วไป เช่นวง Armchair ซึ่งบางเพลงได้รับคัดเลือกไปวางจำหน่ายในระดับนานาชาติ รวมถึงเพลงประกอบภาพยนตร์ เช่น “เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล” ของ เป็นเอก รัตนเรือง 


ในขณะที่ค่ายเพลงใหญ่ๆ สร้างระบบการทำงาน โดยแยกบทบาทชัดเจนระหว่างรูปแบบ ศิลปินเดี่ยว วง นักดนตรี นักแต่งเพลง รูปแบบอินดี้ได้เข้ามาทำให้การแบ่งแยกเหล่านี้น้อยลง แต่ดูจะไม่เคยมีครั้งใดที่บทบาทเหล่านี้จะถูกหลอมรวมเข้าหากัน เท่ากับที่ Monotone Group ทำอยู่ 


Monotone Group เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มคนทำเพลงเป็นงานอดิเรกส่งขึ้นโชว์ตามเว็บไซต์ บ้างก็เพิ่งจบปริญญาตรี บ้างก็กำลังเรียนอยู่ ได้มาพูดคุยกันทางอินเทอร์เน็ต นำมาซึ่งการนัดเจอและแนะนำเพื่อนต่อกันไปจนรวมกันเป็นกลุ่มนักดนตรีที่ทำด้วยใจรัก โดยไม่มีใครเป็นนักดนตรีอาชีพ และไม่มีใครเรียนจบด้านดนตรี 


Monotone Group เริ่มมีชื่อเสียงจากการออกอัลบั้ม “This Is Not A Love Song” ในปี 2545 ซึ่งมีผู้มีส่วนร่วมนับสิบๆ คน เสมือน “ชมรมดนตรี” ที่ผลิตงานเพลงมาขึ้นอันดับความนิยมในสถานีวิทยุได้ ย้อนกลับไปตั้งแต่หลังความสำเร็จในชุดแรกได้ไม่นาน Monotone Group ได้ก่อตั้งบริษัทชื่อ Be Quiet ขึ้นเพื่อความน่าเชื่อถือในการรับงานต่างๆ ส่วนการจัดจำหน่ายเพลงก็มอบให้ ค่าย Blacksheep ภายใต้บริษัท Sony Music BEC Tero ดูแล 


Small Room : “The Next Indy Leader ?” 


ออฟฟิศของ Small Room ตั้งอยู่ ณ มุมหนึ่งของชั้นล่างศูนย์การค้าเล็กๆ ริมถนนเอกมัย บรรยากาศทั้งสำนักงานและห้องบันทึกเสียงตกแต่งอย่างสวยงามราวกับร้านกาแฟ พนักงานราว 5 คนแต่งตัวกันตามสบายต้อนรับเราเข้าพบกับ “พี่รุ่ง” รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ ในชุดกางเกงยีนส์เสื้อยืด บอกเล่าชีวิตที่ฝ่าคลื่นลมในวงการเพลงไทยในห้องรับแขกติดกับสวนหย่อมเล็กๆ 


เริ่มต้นอย่าง “ศิลปินอินดี้”… 


รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ มีใจรักดนตรีจากการที่คุณพ่อส่งเสริมให้สมาชิกในบ้านชอบฟังเพลงและเล่นดนตรียามว่าง จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง แต่หันเหไปชอบดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ รุ่งโรจน์บอกเล่าความรู้สึกกับงานสถาปนิกว่า “ผมเกลียดงานเขียน draft ถ้ากินเครื่องดื่มชูกำลังสองขวดแล้วให้มา draft งานผมจะหลับได้ทั้งคืน แต่ถ้าให้ทำเพลงผมสามารถไม่นอนสองคืน” 


ช่วงปี 2537 รุ่งโรจน์นำบทเพลงที่แต่งขึ้นเอง ออกตระเวนเสาะหาค่ายเพลงที่มี sound engineer ที่ช่วยให้ “ซาวด์” ของเพลงเป็น “แบบฝั่งอังกฤษ” อย่างที่เขาหลงใหลและจินตนาการไว้อย่างละเอียด มาตรฐานที่เขาตั้งไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ทำให้ต้อง “อยู่หลายที่ ย้ายไปเรื่อย” ด้วยเหตุผลหลักว่า sound engineer ของแต่ละค่ายนั้นยังไม่สามารถช่วยให้เขาสร้างซาวด์ในใจนั้นได้ แม้แต่ค่ายเพลงใหญ่ๆ ด้วยระบบของการจัดศิลปินให้ลง “กรอบ” เป็นอุปสรรคต่อความต้องทำเพลงที่เฉพาะเจาะจง 


ในที่สุดเขาก็ได้พบกับค่ายที่ต้องการและออกอัลบั้ม “View” มาในนามวง “Crub” ใช้เวลาผลิตงาน 4 เดือน ขายได้ 2 หมื่นชุด ซึ่งไม่คุ้มทุน เพราะในยุคนั้นต้นทุนการผลิตงานเพลงสูงกว่าปัจจุบันมาก “รู้สึก fail มาก” คือความรู้สึกในช่วงนั้น 


สู่เส้นทางเจ้าของค่ายเพลง… 


ปี 2537 ด้วยการเป็นหุ้นส่วนร่วมก่อตั้งค่ายเพลงอินดี้ชื่อ Boop Record ออกอัลบั้มของวง “สี่เต่าเธอ” ในช่วงที่กระแสเพลงอินดี้เริ่มบูมในไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งรุ่งโรจน์เผยว่าเป็นชุดที่ขายดีชุดหนึ่ง แต่จากนั้นรุ่งโรจน์ก็ “เจ๊ง” อีกถึงสองครั้ง ด้วยเหตุผลเรื่องของ ค่าเช่าห้องอัด 4 แสนเข้าไปแล้ว ยังไม่นับรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ 


ทำไมต้อง “Small Room” ?… 


ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีการทำเพลงราคาถูกเกิดขึ้น รุ่งโรจน์เปิดบริษัทใหม่อีกครั้ง ในชื่อ Small Room ครั้งนี้มุ่งหารายได้หลักไปที่การรับทำเพลงประกอบโฆษณา และครั้งนี้เขาต้องปรับตัวเองครั้งใหญ่ให้ฟังเพลงและทำเพลงได้หลากหลายแนวเพื่อรองรับโจทย์ของลูกค้า 


ที่มาของชื่อ Small Room คือเมื่อแรกตั้งนั้น พื้นที่สำนักงานส่วนใหญ่ถูกใช้จัดเป็นสวนหย่อมอย่างสวยงามและเหลือพื้นที่ส่วนน้อยเท่านั้นไว้เป็นสำนักงานและห้องบันทึกเสียง ธุรกิจรับทำเพลงประกอบโฆษณาบริษัทดำเนินไปได้ดี แต่รุ่งโรจน์ก็ยังต้องการทำธุรกิจค่ายเพลงอีกครั้ง แต่คราวนี้เขาเปลี่ยนวิธีคิดวิธีการนำเสนอใหม่ทั้งหมด 


Small Room 001 บุกเบิกและเรียนรู้… 


อัลบั้ม Small Room 001 ออกจำหน่ายในปี 1999 รุ่งโรจน์เล่าว่าอัลบั้มนี้เป็นต้นแบบของหลายๆ อย่างในวงการเพลงไทย เช่นการนำเอาเพลงใหม่ของศิลปินรายละ 1 – 2 เพลงมารวมกัน มีการใช้นามแฝง ซึ่งรูปแบบนี้ปัจจุบันพบได้ในหลายอัลบั้มของค่ายอื่นๆ 


อัลบั้ม 001 นี้ใช้การทำเพลงด้วยอุปกรณ์เชิงคอมพิวเตอร์ ซึ่งเขาเรียกรวมว่าเป็น “harddisk recording” รุ่งโรจน์เปิดเผยว่าใช้งบเพียง 45% ของอดีตสมัยที่ต้องเช่าห้องอัดเสียง 


รุ่งโรจน์ตัดสินใจผลิตอัลบั้มชุดนี้ออกมาเป็นเทป 1 หมื่นม้วน กับ CD 1 พันแผ่น ผลปรากฏว่า CD ขายหมดอย่างรวดเร็ว แต่เทปกลับเหลือจำนวนมากจนทำให้ขาดทุน อาจนับได้เป็นตัวอย่างของศิลปินทำธุรกิจ ซึ่งแม้จะเป็นธุรกิจด้านเพลงแต่ก็ต้องอาศัยข้อมูลและประสบการณ์ที่ “คนทำเพลง” อย่างเขายังขาดอยู่ 


Small Room 002 ท้าทายค่ายใหญ่… 


ขณะนั้นกระแสความนิยมในศิลปินประเภทอินดี้เริ่มกลับมา รุ่งโรจน์ย้อนเล่าว่าเริ่มมีเสียงวิจารณ์จากค่ายใหญ่ๆ ว่าถึงที่สุดแล้วกระแสอินดี้บูมรอบสองนี้ก็คงจะจบไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับครั้งแรก คำพูดเหล่านี้ทำให้รุ่งโรจน์ “รู้สึกถูกท้าทาย” อย่างแรง ใน Small Room 002 นอกจากคุณภาพเพลงแล้ว เขาได้ทุ่มทุนทำปกซีดีให้สวยงามซับซ้อนด้วยแรง “ฮึด” ที่จะท้าทายค่ายใหญ่ๆ 


อัลบั้ม 002 นี้เปิดตัวในงาน Fat Festival ซึ่งเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เริ่มต้นยุคอินดี้บูมครั้งที่สอง และอัลบั้มนี้ก็ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย 


คิดแบบ Small Room… 


Small Room มุ่งค้นหา “ตัวตน” ของศิลปินอย่างจริงจังโดยเฉพาะรสนิยมการฟังเพลง ประเด็นนี้รุ่งโรจน์มองว่าค่ายใหญ่ค่อนข้างออกไปทางคล้ายโรงงานที่มีกรอบอยู่แล้ว และพยายามหาพยายามจับศิลปินมาใส่กรอบนั้น 


และก่อนจะติดสินใจผลิตอัลบั้มหนึ่งๆ รุ่งโรจน์จะมองหาคู่แข่งมาฟังวิเคราะห์ เปรียบเสมือนการส่งนักมวยขึ้นชกเลยทีเดียว 


นอกจากนี้ ในขณะที่ค่ายแบบอินดี้หลายค่ายเน้นการเดินสายแสดงสด เพื่อชดเชยที่ไม่ได้ออกสื่อมวลชน Small Room กลับไม่เน้นการแสดงสด รุ่งโรจน์ให้เหตุผลว่า “อยากให้น้องๆ ศิลปินได้เอาเวลาไปคิดไปแต่งเพลงทำเพลงให้ดีที่สุด ไม่ใช่เอาเวลามาทุ่มฝึกซ้อมการแสดงบนเวที” 


ปัญหาอุปสรรคของอินดี้ และของ Small Room… 


ปัญหาที่ Small Room ประสบมาตลอดจนถึงปัจจุบันนั้น รุ่งโรจน์สรุปว่าข้อแรกคือ “งานเยอะกว่าคน” เขาสำทับว่า “พี่อยากให้น้องๆ ในออฟฟิศทุกคนได้มีเวลาไปเที่ยวกับแฟน มีเวลาให้ครอบครัวกันมากๆ” 


ต่อมาคือการ “QC” หรือควบคุมคุณภาพเพลงจากนักร้องนักดนตรีในสังกัดซึ่งมักจะไม่ชอบถูก QC แต่รุ่งโรจน์ได้ย้ำว่า “เพลงที่จะออกขายเป็นพาณิชยศิลป์ จะต้องผ่านการ QC” 


กระแสอินดี้กลับมาบูมแล้ว จะยั่งยืนหรือไม่ ?… 


ยุคที่อินดี้บูมครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่ค่ายเพลงทั้งใหญ่เล็กออกผลงานศิลปินโดยวางตำแหน่งเป็นอินดี้กันเยอะเกินไป ขาดการกลั่นกรองว่าอะไรดีไม่ดี หลายชุดทำออกมาหยาบๆ ไม่มีไอเดียใหม่แต่เอามา “ติดตราอินดี้” เกาะกระแส ผู้ฟังจึงหมดศรัทธา 


ส่วนการกลับมาในช่วงหลังนี้ รุ่งโรจน์สรุปว่าเริ่มจากการที่ “พี่เต๊ด” ยุทธนา บุญอ้อม เปิด Fat Radio และจัดงาน Fat Festival ครั้งแรกขึ้นในปี 2544 อีกทั้งบรรดาศิลปิน ค่ายเพลง และผู้บริโภคเองก็ได้ “เรียนรู้และปรับตัว” ทุกสิ่งเป็นระบบขึ้น ไม่ใกล้เคียงกับความ “แบกะดิน” แบบครั้งก่อน 


ทัศนะว่าด้วย “เด็กแนว” 


กับการบูมของอินดี้ครั้งที่แล้ว รุ่งโรจน์สังเกตว่า มีการแต่งตัวเลียนแบบศิลปินบ้าง แต่ไม่ “art” เท่าปัจจุบัน ซึ่งแต่งได้ออกมาสวยงามน่าดูกว่ามาก นอกจากนี้โทรศัพท์มือถือก็เข้ามามีส่วนกับไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นค่อนข้างมาก ซึ่งก็เป็นความพยายามของทางธุรกิจโทรศัพท์มือถือเองด้วยที่จะเกาะติดไลฟ์สไตล์วัยรุ่น 


เมื่อมองถึงอนาคตของกระแส “เด็กแนว” รุ่งโรจน์เชื่อว่าจะอยู่ได้นาน “เด็กอัลเทอร์” (วัยรุ่นที่ชอบเพลงแนว alternative ซึ่งโด่งดังในยุคต้นทศวรรษ 90’s หรือ 2533) ก็ได้เติบโตขึ้นมาทำงานในภาคธุรกิจต่างๆ มีส่วนผลักดัน “เด็กแนว” ในปัจจุบันให้เติบโตไปสืบทอดความเป็นวัยรุ่นในยุคหน้าต่อไป




อินดี้คืออะไร



 เพลงอินดี้ เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้ว่า เพลงอินดี้ คืออะไร? หมายถึงอะไร? โดยรากศัพท์ เพลงอินดี้ มาจากคำว่า Independent หมายถึง อิสระ ดังนั้นตามความหมายแล้ว เพลงอินดี้ หรือดนตรีอินดี้ก็คือดนตรีที่ผู้ผลิตคิดเองและทำเองอย่างมีอิสระ ปัจจุบันคำว่า เพลงอินดี้ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปทำความรู้จักกับแฟนเพลงที่เบื่อดนตรีแนวเดิมๆ อยากหาสิ่งแปลกใหม่ 
          เพลงอินดี้ (อิสระ) มาจากวงดนตรีอิสระ และนักดนตรีอิสระ (Independent Music from Independent Bands and Independent Musicians) น่าจะเป็นคำจำกัดความของความเป็น “อินดี้” ที่รวบรัด 

  ในยุคหนึ่งของวงการเพลง มีแต่แนวดนตรีสไตล์เดิมๆ ทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีรสนิยมการฟังเพลง ไม่ชอบอะไรซ้ำซาก คนกลุ่มนี้จึงพยายามแหวกแตกต่าง พูดง่ายๆ ก็คือต่อต้านกระแสหลัก หันไปทำดนตรีอะไรที่ตัวเองชอบ ทำให้ดนตรีมีแนวหลากหลายมากขึ้น

          แต่ทุกวันนี้คนสับสนกันมาก กับคำว่า “เพลงอินดี้” จริงๆ แล้ว คำว่าอินดี้มันเป็นระบบการทำงาน ที่ว่าไม่ยึดติดค่าย มีอิสระในการทำงานสูง ไม่ใช่แนวเพลงใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนคนสับสนคิดว่า Chill Out คือชื่อแนวเพลง ซึ่งความจริงมันเป็นอารมณ์ต่างหาก ดังนั้นเพลงอินดี้ อาจเป็น แร๊ป ร๊อค ฮิปฮอป อิเล็คโทรนิก้า ดรัมแอนเบส ดั๊บ เฮฟวี่เมทัล ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่อินดี้…เพราะเพลงอินดี้คือชื่อระบบการทำงาน

          เมื่อดูจากความเป็นมา ดนตรีอินดี้ ได้มีส่วนเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมดนตรีไปตลอดกาล และพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าในทุกยุคสมัย 

          เพลงอินดี้ คือ นักร้องหรือวงดนตรีที่ทำงานในการสร้างสรรค์ดนตรีและบทเพลงออกมาจากมันสมองอย่างหนักเหนื่อย แต่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ไม่เคยสนใจ วิทยุก็ไม่เคยเปิดเพลงให้ เพราะเป็นศิลปินหน้าใหม่ไม่มีชื่อเสียง และถ้าอยู่ภายใต้สังกัดค่ายเพลงอินดี้เป็นอิสระด้วยตัวเอง ยิ่งไม่มีทางเลย 
          เพราะมีเพียงบริษัทเพลงยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่แห่งที่มีอำนาจควบคุมตลาดเพลงอยู่ สาเหตุหนึ่งเพราะพวกเขาได้ก่อร่างสร้างอุตสาหกรรมเพลงและธุรกิจในสายนี้ขึ้นมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก จนทำให้เป็นองค์กรทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูงสุด

หากดูความหมายดั้งเดิม “เพลงอินดี้” หมายถึง งานเพลงของวงดนตรีที่ออกกับค่ายเพลงอิสระ แต่ปัจจุบันได้แปรผันเป็นแนวดนตรีที่ออกกับค่ายยักษ์ใหญ่ก็ได้ โดยตลาดจะเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาหรือผู้ใหญ่ที่ต้องการฟังสิ่งที่ดีและใหม่กว่าที่มีอยู่ในท้องตลาด ไม่ใช่กระแสหลัก และไม่เดินตามก้นคนอื่น ไม่ใส่ใจในบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ในเวลาเดียวกัน อยู่เหนือทุกๆ สิ่ง

          ที่จริงแล้ว ขอบข่ายของ “Independent” 
ที่ใช้กันบ่อยแบบหยาบๆ กว้างๆ มีหลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลงแยกย่อยของบริษัทเพลงยักษ์ใหญ่ ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นอิสระไปทั้งหมด หรือเป็นค่ายเพลงเล็กๆ ในบริษัทเพลงยักษ์ใหญ่เช่นกัน แต่เจาะจงทำขึ้นมาเพื่อรองรับศิลปินระดับซูเปอร์สตาร์เป็นกรณีพิเศษเท่านั้น หรือค่ายเพลงอิสระที่อาศัยเครือข่ายการบริหารจัดการและจัดจำหน่ายของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ หรือค่ายเพลงที่เรียกดนตรีของตัวเองว่า อินดี้ มิวสิค ซึ่งอาจจะมีระบบที่เป็นแบบค่ายเพลงยักษ์ใหญ่หรือแบบค่ายเพลงอิสระก็ได้ หรือค่ายเพลงอิสระที่แตกต่างกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่หรือกระแสหลักแบบจริงๆ

          เพราะโดยหลักของความเป็นอิสระหรืออินดี้แล้ว ไม่ได้ตั้งแง่รังเกียจอุตสาหกรรมดนตรี เพียงแต่ต้องการเป็นนายของตัวเอง และหลีกเลี่ยงระเบียบแบบแผนที่ของบริษัทเพลงซึ่งใช้กันอยู่ประจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนหรือการเข้ามาบังคับกะเกณฑ์ในตัวงาน การใช้บริการของหน่วยธุรกิจใหญ่ๆ บางครั้งก็จะช่วยให้ทำในสิ่งที่ต้องการให้มีความเป็นไปได้ และยืนอยู่ในฐานะอิสระ เพราะ ‘อินดี้’ ไม่ใช่คำที่เคร่งครัดตายตัว


   ศิลปินอินดี้ต้องมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน DIY (Do-It-Yourself) คือศิลปินทำดนตรีและงานเพลงด้วยตัวของพวกเขาเอง และนั่นคือ อินดี้